วันพุธที่ 19 มกราคม 2565 นายวิศาล กิตติประโยค หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสตูล พร้อมด้วยนายอานนท์ หวันชิตนาย หัวหน้าส่วนยุทธศาสตร์การเกษตร และนางสาวสุชาวดี เพชรอาวุธ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ เข้าพบนางทิวาพร ทวีทรัพย์ ผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองภาคใต้ จังหวัดสตูล ณ นิคมสร้างตนเองภาคใต้จังหวัดสตูล ตำบลควนกาหลง อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่หมู่ที่ 5,10 บ้านทุ่งหญ้าคาและบ้านสะพานเสือ ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล จำนวน 126 ราย เนื้อที่ประมาณ 2,640 ไร่ จากการที่สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสตูลได้ประสานบูรณาการร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ศูนย์ป่าไม้จังหวัดสตูล และนิคมสร้างตนเองภาคใต้จังหวัดสตูล ช่วยตรวจสอบพิกัดพื้นที่ว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวอยู่ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานใด ปรากฏว่าหน่วยงานทั้ง 3 หน่วยงาน ได้มีหนังสือตอบกลับมายังสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสตูลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวราษฎรและเกษตรกรได้อาศัยอยู่และทำกินในเขตนิคมสร้างตนเอง
ผลจากการหารือร่วมกันระหว่างสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสตูลและนิคมสร้างตนเองภาคใต้จังหวัดสตูล จึงได้ข้อสรุปแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่หมู่ที่ 5,10 บ้านทุ่งหญ้าคาและบ้านสะพานเสือ ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล ในเขตนิคมสร้างตนเอง ดังนี้
1. สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสตูล ขอความร่วมมือให้นิคมสร้างตนเองภาคใต้จังหวัดสตูล สรุปหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การยื่นคำขอใช้ประโยชน์ที่ดินสงวนนิคมฯ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดทำเวที เพื่อชี้แจง ทำความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นของราษฎร และเกษตรกรในพื้นที่ ถึงเงื่อนไขการเช่าที่ดินกับนิคมฯ
2. สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสตูล ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้จังหวัดสตูล ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดสตูล การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดสตูล และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดประชุมหารือแนวทางการรับสิทธิประโยชน์จากภาครัฐในกรณีที่ราษฎรและเกษตรกรได้ขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินกับทางนิคมฯ โดยการเช่าที่ดินเป็นที่เรียบร้อยสามารถขอรับสิทธิประโยชน์ต่างๆจากภาครัฐได้หรือไม่ อาทิเช่น การกู้เงินจาก ธ.ก.ส. การขอทุนสงเคราะห์จาก กยท. และให้การชดเชยราคาผลผลิตตกต่ำจากนโยบายภาครัฐ หรือหน่วยงานภาครัฐให้การส่งเสริม สนับสนุนงบประมาณในที่ดินของนิคมฯ เป็นต้น
3. สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสตูลบูรณาการร่วมนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้จังหวัดสตูล ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดสตูล การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดสตูล และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง จัดทำเวทีฯ เพื่อชี้แจงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นคำขอใช้ประโยชน์ที่ดินสงวนนิคมฯ รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับในกรณีเมื่อราษฎรและเกษตรกรได้มีการยื่นคำร้องขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินของนิคมฯ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นของราษฎร และเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป